ค่าโฆษณาจ่ายให้ Facebook, Google ต้องยื่นแบบภาษีอะไร
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
รายจ่ายที่สามารถนำมาหักภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น ต้องเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง เป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการ และมีหลักฐานการจ่ายถูกต้อง ซึ่งโดยปกติ จะพิจารณาจากเอกสารเป็นหลัก การดูว่ารายจ่ายเกี่ยวข้องกับกิจการหรือไม่ เอกสารจะบอกได้ครับ คือจะต้องมีชื่อบริษัทเราอยู่ในเอกสารนั้น ถ้าเป็นชื่อกรรมการ ชื่อบุคคล หรือสด อันนี้พิสูจน์ไม่ได้ ว่าเกี่ยวข้องกับบริษัทอย่างไร นอกจากนี้ จะต้องพิสูจน์ผู้รับเงินได้ว่าเราจ่ายเงินให้ใคร ดังนั้น การจ่ายค่าโฆษณาให้ Facebook หรือ Google ก็ควรจะออกใบเสร็จในนามบริษัทนะครับ จะได้พิสูจน์ได้ว่าเกี่ยวข้องกับกิจการจริง ส่วนเรื่องการจ่ายเงิน ปกติก็ต้องจ่ายทาง บัตรเครดิต หรือโอนเงินอยู่แล้ว ก็ใช้หลักฐานนั้นแนบประกอบว่ามีการจ่ายค่าโฆษณาจริง รายจ่ายนี้ก็เป็นรายได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคได้ ไม่ต้องห้าม
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
การจ่ายค่าบริการไปต่างประเทศ ในมาตรา 70 ระบุไว้ดังนี้
มาตรา 70 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2)(3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้ สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 54 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
แต่เนื่องจากเงินได้ค่าโฆษณา ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(80) จึงไม่อยู่ในข่ายต้องหัก ภาษี ณ ที่จ่าย ดังนั้นการจ่ายค่าโฆษณาให้ Facebook, Google จึงไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
การจ่ายค่าบริการไปต่างประเทศ โดยที่ผู้ให้บริการไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย และมีการใช้บริการนั้นในประเทศ กรณีนี้จ่ายค่าโฆษณาให้ Facebook, Google ซึ่งอยู่ที่ต่างประเทศ แต่เป็นการโฆษณาในประเทศไทย ถือว่าเป็นการใช้บริการในประเทศไทย ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย (อ้างอิงตามมาตรา 77/2 และมาตรา 83/6(2))
โดยผู้จ่ายค่าโฆษณา จะต้องยื่นแบบ ภพ 36 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการจ่ายค่าโฆษณาไป โดยคำนวณจากยอดที่จ่ายจริง (ที่แปลงเป็นเงินบาทแล้ว) คูณ 7% และกรอกแบบนำส่ง ภพ 36 ถ้ามีการจ่ายทั้ง Facebook และ Google ในเดือนเดียวกัน ก็ให้แยกกรอกกันคนละใบ
เมื่อได้นำส่งภาษีตาม ภพ 36 แล้ว ใบเสร็จของกรมสรรพากร ถือเป็นภาษีซื้อ ที่สามารถนำมาหักภาษีขายได้ ถือตามวันที่ในใบเสร็จ ภพ 36 เป็นภาษีซื้อของเดือนภาษีนั้น ๆ เช่น จ่ายให้ Facebook เดือน 6/63 ไปยื่น ภพ 36 ภายในวันที่ 7/7/63 ก็จะได้ใบเสร็จมาเป็นวันที่ 7/7/63 ก็นำใบเสร็จนั้นไปยื่นเป็นภาษีซื้อของเดือน 7/63 ครับ แต่ ใบเสร็จภพ 36 นี้ ไม่ได้สิทธิยื่นช้า 6 เดือนนะครับ เพราะตาม ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 4 ระบุไว้ว่า
ภาษีซื้อที่มิได้นำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีเพราะเหตุดังต่อไปนี้
(1) เหตุจำเป็นซึ่งเกิดขึ้นตามประเพณีทางการค้า
(2) เหตุสุดวิสัย
(3) ได้รับใบกำกับภาษีในเดือนภาษีอื่นที่มิใช่เดือนภาษีที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษี
ภาษีซื้อที่มีสิทธิยื่นช้าได้ 6 เดือนนั้น จะต้องมีเหตุตามคำสั่งดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้น ใบเสร็จ ภพ 36 เมื่อจ่ายแล้ว ก็จะได้รับมอบจากเจ้าหน้าที่สรรพากรเลย จึงไม่เข้าเหตุทั้ง 3 ข้อ ดังนั้นรายการนี้ห้ามยื่นล่าช้านะครับ
หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมต้องให้ยื่น ภพ 36 ด้วยในเมื่อยื่นแล้ว ก็มาเป็นภาษีซื้อหักคืนอยู่ดี ก็อธิบายแบบนี้ครับ ปกติเวลาเราจ่ายค่าสินค้าหรือบริการ ก็จะต้องมีภาษีขายที่ทางผู้ขายเรียกเก็บเพิ่มอยู่แล้ว แต่กรณีนี้ ทาง Facbook, Google ไม่ได้เรียกเก็บภาษีขายเราเพิ่ม ดังนั้นสรรพากรเลยกำหนดให้ผู้จ่าย ทำการจ่ายภาษีขายเพิ่มไปด้วย แล้วนำส่งให้สรรพากร แทน Facebook, Google พอเราจ่ายแล้ว ยอดภาษีที่เราจ่ายก็จะเป็นภาษีซื้อของเรามาหักได้ โดยใช้ใบเสร็จ ภพ 36 เป็นหลักฐานใบกำกับภาษีซื้อนั่นเองครับ
ดังนั้นสิ่งที่ต้องระวัง คืออย่าลืมยื่น ภพ 36 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการจ่ายค่าโฆษณาให้ Facebook, Google นะครับ