ต้องยอมรับว่า Specific Business Tax หรือ ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภธ.40 นั้นมีการใช้ในกลุ่มธุรกิจจัดสรรที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ แล้วการทำหน้าที่ยื่นแบบจะต้องทำอะไร ยังไง เมื่อไหร่...ลองดูคำถาม-คำตอบนะครับ
อ้างอิงข้อกฎหมายประมวลภาษีรัษฎากร มาตรา 91/2(6) มาตรา 91/10 มาตรา 91/12 และมาตรา 91/13 แห่งประมวลรัษฎากร
บริษัท BE ประกอบกิจการขายบ้านพร้อมที่ดินและจัดสรรที่ดินโดยได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดินและเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ต้องทำหน้าที่ยื่นภาษีดังนี้
- กรณีเดือนภาษีใดที่บริษัทฯ มีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์และได้ยื่นแบบชำระภาษีที่สำนักงานของกรมที่ดินแล้ว จำเป็นต้องยื่นแบบ ภ.ธ.40 ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาอีกหรือไม่
- กรณีเดือนภาษีใดที่บริษัทฯ ไม่มีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ จำเป็นต้องยื่นแบบ ภ.ธ.40 ต่อกรมสรรพากร หรือไม่
บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบกิจการขายบ้านพร้อมที่ดินและจัดสรรที่ดินโดยได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดิน เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร จึงอยู่ในบังคับต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ และมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ธ.40 ในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการขายอสังหาริมทรัพย์พร้อมกับชำระภาษีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้น โดยบริษัทฯ ไม่ต้องยื่นแบบ ภ.ธ.40 เพื่อชำระภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นรายเดือน ทั้งนี้ ตามมาตรา 91/2(6) มาตรา 91/10 มาตรา 91/12 และมาตรา 91/13 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
- เงินมัดจำหรือเงินดาวน์ในการขายอสังหาริมทรัพย์ บริษัทฯ มีสิทธิที่จะเลือกเสียในขณะโอนอสังหาริมทรัพย์ที่กรมที่ดิน หรือไม่
- เงินมัดจำหรือเงินดาวน์ที่ผู้จะซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้วางประกันแล้วต่อมาถูกริบถือเป็นเงินได้ที่ต้องนำส่งภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือไม่
เงินมัดจำและเงินดาวน์ที่ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ หากเงินจำนวนดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของรายรับที่ได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ บริษัทฯ ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อยื่นแบบเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามมาตรา 91/10 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีบริษัทฯ ริบเงินมัดจำหรือเงินดาวน์จากผู้จะซื้ออสังหาริมทรัพย์เนื่องจากผู้จะซื้อผิดสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ เงินดังกล่าวไม่ใช่เงินที่ได้มาจากขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องนำเงินได้ดังกล่าว มาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 แต่อย่างใด
ขอบคุณ บทความไปยังฝ่ายกฎหมายภาษีของกรมสรรพากร