งบการเงิน

การนำเสนองบการเงิน
งบการเงิน financial statements เป็นรายงานที่จัดทำขึ้นเพื่อเสนอข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และกระแสเงินสดของกิจการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินในการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจ เช่นผู้ถือหุ้นควรถือเงินลงทุนต่อ หรือควรขาย หรือควรซื้อหุ้นเพิ่ม หรือเจ้าหนี้เงินกู้ จะใช้ในการพิจารณาว่าควรปล่อยกู้หรือไม่ นอกจากนั้นงบการเงินยังแสดงความสามารถของฝ่ายบริหาร ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ถือหุ้นให้บริหาร
ส่วนประกอบของงบการเงิน ตามมาตรฐารการบัญชี ฉบับที่ 35 เรื่อง การนำเสนองบการเงิน ได้กำหนดว่างบการเงินที่สมบูรณ์ต้องประกอบด้วย
1.งบดุล balance sheet เป็นงบที่แสดงฐานะการเงินของกิจการ ณ วันใดวันหนึ่ง องค์ประกอบที่สำคัญ คือ สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ (ทุน)
2.งบกำไรขาดทุน statement of income หรือ profit and loss statement เป็นงบที่แสาดงถึงผลการดำเนินงานของกิจการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง ๆ องค์ประกอบที่สำคัญเกี่ยวกับกับการวัดผลการดำเนินงาน คือ บัญชีรายได้ และค่าใช้จ่าย
3.งบกระแสเงินสด statement of cash flows เป็นงบที่แสดงการไหลเข้าและไหลออกของกระแสเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสด ในระหว่างงวดบัญชีหนึ่ง ๆ ว่ากิจการได้ดำเนิน กิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมการลงทุน และกิจกรรมการจัดหาเงินอย่างไร
4.งบแสดงเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของ statement of changes in owner’s equity หรืองบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ comprehensive income statement เป็นงบที่แสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้เป็นเจ้าของในระหว่างงวดบัญชี
5.นโยบายการบัญชีและหมายเหตุประกอบงบการเงิน accounting policies and notes to financial statement เป็นข้อมูลนโยบายบัญชีที่กิจการเลือกให้อย่างเหมาะ และข้อมูลที่เปิดเผยเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้งบไม่เข้าใจผิดในสาระสำคัญของงบการเงิน

การจัดทำงบการเงิน จะต้องจัดทำงบการเงินโดยถูกต้องตามควรตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป หมายถึง กิจการจะต้องนำมาตรฐานการบัญชีและตีความตามมาตรฐานบัญชีทุกประเด็นมาปฏิบัติอย่างเหมาะสม พร้อมกับเปิดผยข้อมูลที่จำเป็นอย่างเพียงพอ การที่กิจการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี แต่เปิดเผยให้ทราบในหมายเหตุประกอบงบการเงิน หรืออธิบายในลักษณะอื่น ก็ไม่ทำให้งบการเงินถูกต้องตามที่ควร
นโยบายบัญชี ในการจัดทำงบการเงินให้ถูกต้องตามที่ควรตามมาตรฐานการบัญชี ผู้บริหารจะต้องเลือกใช้นโยบายการบัญชี และปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีวัตถุประสงค์ที่กำหนดในมาตรฐานการบัญชี และการตีความตามมาตรฐานบัญชีทุกประเด็น โดยผู้บริหารจะต้องคำนึงถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. เกี่ยวกับการตัดสินใจของผู้ใช้งบการเงิน
2. เชื่อถือได้โดยต้อง
2.1 แสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของกิจการอย่างเที่ยงธรรม
2.2 สะท้อนให้เห็นถึงเนื้อหาเชิงเศรษฐกิจมากกว่ารูปแบบทางกฎหมาย
3. มีความเป็นกลางไม่ลำเอียง
4. มีความระมัดระวัง
5. มีความครบถ้วนในข้อมูลที่มีนัยสำคัญ

ข้อควรพิจารณาในการจัดทำงบการเงิน
1. การดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง going concern ผู้บริหารของกิจการต้องประเมินความสามารถของกิจการว่าจะสามารถดำเนินงานต่อไปได้เป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือนนับจากวันที่ในงบดุลได้หรือไม่ ถ้าได้กิจการควรจัดทำงบการเงินตามหลักเกณฑ์การดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้ากิจการมีความตั้งใจที่จะเลิกกิจการ หรือมีความไม่แน่นอนว่าจะดำเนินกิจการได้ต่อเนื่องต่อไปอีก 12 เดือน กิจการต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เช่นกิจการมีผลขาดทุนมากจนทำให้ส่วนของเจ้าของติดลบ หรือกิจการมีหนี้สินหมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์ และกิจการไม่มีแนวทางในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น กู้ยืมเงินระยะยาว ขายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ หรือเรียกหุ้นเพิ่ม ก็ไม่เหมาะสมที่จะใช้หลักการดำเนินงานต่อเนื่อง
2. เกณฑ์คงค้าง accrual basis เกณฑ์การบันทึกรายได้ และค่าใช้จ่าย ในการวัดผลการดำเนินงานจะยึดเกณฑ์ที่ว่า รายได้หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในงวดบัญชีใดก็ให้บันทึกเป็นรายการในงวดบัญชีนั้น เช่นกิจก่อสร้าง ซื้อวัสดุก่อสร้างเป็นเงินเชื่อ และนำมาก่อสร้างทันทีค่าใช้จ่ายก็คือวัสดุต่อสร้าง ส่วนที่สร้างทันทีก็ต้องบันทึกเป็นงานระหว่างทำกับรายได้ตามส่วนงานที่เสร็จ
3. ความสม่ำเสมอ consisitency การจัดทำและนำเสนองบการเงินเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป ต้องมั่นใจว่างบการเงินสามารถเปรียบเทียบกันได้กันงบการเงินงวดก่อนของกิจการ และกับงบการเงินของกิจการอื่นประเภทเดียวกัน การเปรียบเทียบกันได้งบการเงินนั้นต้องจัดทำขึ้นโดยใช้นโยบายบัญชี และการจัดประเภทรายการอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกันทุกงวดบัญชี ยกเว้น ลักษณะการดำเนินงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นสาระสำคัญ การเปลี่ยนแปลงการแสดง และจัดประเภทรายการ เกิดจากข้อกำหนดของมาตรฐานการบัญชีที่ปรับปรุงใหม่ หรือการตีความมาตรฐานการบัญชีทุกประเด็น มีผลกระทบต่อการจัดประเภทของบัญชีของงวดบัญชีก่อนให้เหมาะสมกับงวดบัญชีปีปัจจุบัน ตัวอย่างในงวดบัญชีก่อนมีลูกหนี้จากการขายผ่อนชำระมีจำนวนน้อยที่แสดงในลูกหนี้การค้า ต่อมากิจการได้มีการส่งเสริมการขายแบบผ่อนชำระในปีปัจจุบัน จึงทำให้มีลูกหนี้การขายผ่านชำระเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเป็นสาระสำคัญ จึงควรแยกแสดงลูกหนี้จากการขายผ่อนชำระเป็นรายการอิสระจากลูกหนี้การค้าในงบดุลปีปัจจุบัน งบดุลปีก่อนจึงต้องแสดงแยกรายการลูกหนี้จากการขายผ่อนชำระออกจากลูกหนี้การค้าเช่นเดียวกับงบดุลในปีปัจจุบัน
4. ความมีนัยสำคัญและการรวมยอด materialitiy and aggegation งบการเงินเป็นผลของการรวบรวมรายการบัญชีด้วยการจัดกลุ่มเข้าตามลักษณะ และหน้าที่ของรายการนั้น ๆ เพื่อนำเสนอข้อมูลให้กระชับดูสบายตา และจัดเป็นรายบรรทัดเพื่อแสดงในงบการเงินหรือแสดงรายละเอียดของบัญชีที่มีลักษณะ และหน้าที่แบบเดียวกันในกลุ่มเดียวกัน พร้อมทั้งอ้างอิงเลขหมายของหมายเหตุประกอบงบการเงินที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องตรงกัน กิจการควรเลือกแยกแสดงรายการสำหรับรายการบัญชีที่มีนัยสำคัญ เช่นพิจารณาจากขนาด และลักษณะของรายการไปพร้อมกัน โดยพิจารณาอิทธิพบต่อการตัดสินเชิงเศรษฐกิจของผู้ใช้งบการเงิน อย่างเช่น สินทรัพย์ที่มีลักษณะเดียวกันก็ให้แสดงรวมกัน แต่ถ้าหากสินทรัพย์มีขนาดและลักษณะแตกต่าง จนมีนัยสำคัญก็ควรแสดงแยกอิสระออกจากกัน
5. การหักกลบ offsetting การแสดงรายการสินทรัพย์และหนี้สิน ในงบดุล หรือ รายได้ และค่าใช้จ่าย ในงบกำไรขาดทุน จะนำมาหักกลบลบกันไม่ได้ เช่น นาย ก.เป็นทั้งลูกหนี้ และเจ้าหนี้ ในขณะเดียวกัน กิจการจะนำรายการทั้ง 2 หักกลบลบกันไม่ได้ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจผิด เว้นแต่เป็นรายการที่มีมาตรฐานการบัญชีกำหนดไว้ หรืออนุญาตให้กระทำได้ตามกฎหมาย เช่นนำบัญชีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไปแสดงหักจากบัญชีลูกหนี้ที่เกี่ยวข้อง กระทำได้เพราะมาตรฐานบัญชีมีกำหนด
6. ข้อมูลเปรียบเทียบ comparative informations การเปรียบเทียบข้อมูลที่เป็นตัวเลขของรายการในงบการเงินงวดปัจจุบันกับงบการเงินงวดก่อน โดยแสดงข้อมูลเปรียบเทียบทุกรายการที่มีนัยสำคัญโดยให้ยึดงบการเงินของงวดปัจจุบันเป็นหลัก เพื่อความเหมาะสมถูกต้องกิจการต้องปรับปรุงหรือแก้ไขการแสดงประเภทรายการของงบการเงินปีก่อนให้สอดคล้องกับงบการเงินปีปัจจุบัน และให้เปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินของปีปัจจุบัน แต่ถ้าหากไม่สามารถจัดประเภทบัญชีให้เข้ากับงบการเงินงวดปัจจุบันควรเปิดเผยถึงเหตุผลที่ไม่สามารถจัดประเภทรายการให้เข้ากับงบการเงินงวดปัจจุบัน

งวดบัญชี
มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 35 เรื่อง “การนำเสนองบการเงิน” กำหนดว่า กิจการต้องนำเสนองบการเงินอย่างน้อยปีละครั้งยกเว้นในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงวันที่ของงบดุล ทำให้กิจการต้องนำเสนองบการเงินสั้นกว่า หรือยาวกว่า หนึ่งปี (กฎหมายแพ่งพาณิชย์ กฎหมายมหาชน และประมวลรัษฎากรยินยอมให้นำเสนองบการเงินที่มีรอบที่สั้นกว่า 1 ปีเท่านั้น คือ ปีแรกของการเริ่มดำเนินงาน และปีสุดท้ายที่ขอเลิกดำเนินงาน) มาตรฐานการบัญชีได้กำหนดให้กิจการเปิดผยข้อมูล
1. เหตุผลในการใช้รอบบัญชีที่สั้น หรือ ยาวกว่า 1 ปี
2. เปิดเผยให้ทราบว่าจำนวนเงินที่แสดงในงบการเงินอื่น (ยกเว้นงบดุล) ของปีปัจจุบันไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับงบการเงินของรอบบัญชีก่อน

งบดุล balance sheet เป็นงบที่แสดงฐานะการเงินของกิจการ ณ วันใดวันหนึ่ง องค์ประกอบของงบดุลประกอบด้วย สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้เป็นเจ้าของ ตามสมการทางบัญชี สินทรัพย์ = หนี้สิน+ส่วนของเจ้าของ

สินทรัพย์ assets หมายถึง ทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการ ซึ่งเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งคาดว่าจะให้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต การจำแนกประเภทสินทรัพย์ โดยแบ่งเป็น สินทรัพย์หมุนเวียน และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
สินทรัพย์หมุนเวียน current assets จัดประเภทดังนี้
1. สินทรัพย์เป็นเงินสด หรือเทียบเท่าเงินสด ที่ไม่มีข้อจำกัดในการใช้ เงินฝากธนาคาร
2. กิจการคาดว่าจะได้รับประโยชน์ในการถือสินทรัพย์ในระยะสั้น ภายใน 12 เดือนนับจากวันที่ของงบดุล
3. สินทรัพย์มีไว้เพื่อขาย หรือนำมาใช้ในการดำเนินงานตามปกติ ภายใน 12 เดือนนับจากวันที่ของงบดุล
เช่น เงินสด , เงินฝาก , เงินลงทุนชั่วคราว , ลูกหนี้การค้า , สินค้าคงเหลือ , เงินให้กู้ยืมระยะสั้นแก่บุคคลและกิจการที่เกี่ยวข้องกัน ฯลฯ
สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน non-current assets สินทรัพย์ที่ไม่เข้าเกณฑ์สินทรัพย์หมุนเวียน
เช่น เงินลงทุนทั่วไป , ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ , สินทรัพย์ไม่มีตัวตน ฯลฯ

หนี้สิน liabilities หมายถึง ภาระผูกพันในปัจจุบันของกิจการ ซึ่งเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งจะส่งผลให้กิจการต้องสูญเสียทรัพยากรที่มีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ
1. เกินภาระผูกพันในปัจจุบัน คือ ทำให้กิจการมีหน้าที่หรือความรับผิดชอบที่ต้องปฏิบัติตามภาระผูกพัน ภาระผูกพันอาจมี หรือไม่มีผลบังคับทางกฎหมายก็ได้ เช่นภาระจากการถูกฟ้องร้อง ภาระจากการสั่งซื้อสินค้าเป็นเงินเชื่อ ภาระในการดำเนินการตามปกติของกิจการ เช่นการรับประกันสินค้า
2. เป็นผลของรายการและเหตุการณ์ทางบัญชีในอดีต เช่นการสั่งซื้อสินค้าและได้รับสินค้าแล้วแต่ยังไม่ได้ชำระค่าสินค้า หรือ กิจการก่อสร้างให้การรับประกันผลงานการก่อสร้าง 1 ปี หลังจากก่อสร้างเสร็จ
3. กิจการต้องสละทรัพยากรที่มีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ เพื่อชำระค่าภาระผูกพันในปัจจุบัน เช่น ชำระด้วยเงินสด ชำระด้วยการโอนทรัพย์สิน ชำระด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน การขอเปลี่ยนภาระผูกพันเก่าเป็นภาระผูกพันใหม่ ฯลฯ
การจำแนกหนี้สิน แบ่งเป็น หนี้สินหมุนเวียน และหนี้สินไม่หมุนเวียน การจัดประเภทหนี้สินหมุนเวียน หรือไม่หมุนเวียนจะถือหลัก 12 เดือนนับจากวันที่ของงบดุลปีปัจจุบันเป็นเกณฑ์
หนี้สินหมุนเวียน เช่น เงินเบิกเกินบัญชี และกู้ยืมที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี เจ้าหนี้การค้า ตั๋วเงินจ่าย ภาษีเงินได้ค้างจ่าย
หนี้สินไม่หมุนเวียน เช่น เงินกู้ยืมระยะยาว เงินล่วงหน้าตามสัญญาขาย

ส่วนของเจ้าของ owner’s equity
1. ทุนจดทะเบียน เงินลงทุนที่ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นทุนจดทะเบียน เช่น หุ้นสามัญ หรือ หุ้นบุริมสิทธิ ตามที่กรรมการของบริษัทเรียกชำระเต็มมูลค่า หรือบางส่วน
2. เงินสำรองตามกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้บริษัททั่วไปกันเงินจากกำไรอย่างน้อยร้อยละ 5 มากกว่าก็ได้ทุกครั้งที่มีการประกาศจ่ายเงินปันผล จนกว่าเงินสำรองจะมียอดสะสมเท่ากับร้อยละ 10 ของทุนจดทะเบียน ส่วนบริษัทมหาชนต้องกันไว้ร้อยละ 5 ของกำไรสุทธิปีปัจจุบันหักด้วยผลขาดทุนสะสม (ถ้ามี) จนกว่าเงินสำรองจะมียอดสะสมรวมกันอย่างน้อยเท่ากับร้อยละ 10 ของทุนจดทะเบียน
3. กำไรสะสมยังไม่จัดสรร กิจการที่ดำเนินงานโดยมีผลกำไร หรือขาดทุน จะถูกโอนไปบวก หรือหักจากบัญชีกำไรสะสม หากผู้ถือหุ้นอนุมัติให้กิจการจ่ายเงินปันผล และตั้งสำรองตามกฎหมาย จำนวนเงินปันผล และเงินสำรองตามกฎหมายจะโอนออกจากกำไรสะสม ไปเป็นหนี้สินค่าเงินปันผลทันที ส่วนเงินสำรองจะเป็นกำไรสะสมจัดสรรเพื่อสำรองตามกฎหมาย
ส่วนของเจ้าของ , ส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วน , ส่วนของผู้ถือหุ้น เช่น ทุนจดทะเบียน ส่วนเกินมูลค่าหุ้น ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์เพิ่ม หักทรัพย์เผื่อขาย (ไม่ใช่หลักทรัพย์เพื่อค้า) เงินสำรองตามกฎหมาย กำไรสะสมยังไม่ได้จัดสรร

รูปแบบของงบดุล มี 2 แบบ
1. แบบบัญชี จัดทำเป็น 2 ข้างเรียงลำดับ ข้างซ้ายมือเป็นสินทรัพย์ ส่วนขวามือ เป็นหนี้สิน และส่วนของเจ้าของ
2. แบบรายงาน จัดทำเรียงลำดับ จากสินทรัพย์ หนี้สิน โดยเรียงลำดับตามสภาพคล่อง และส่วนของเจ้าของ การจัดทำงบดุลปัจจุบันนิยมทำแบบรายงาน ซึ่งเป็นแบบที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นแบบงบดุลมาตรฐาน

งบกำไรขาดทุน ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ
1. รายได้ revenues หมายถึง การเพิ่มขึ้นของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ ในรอบระยะเวลาบัญชีในรูปแบบกระแสเข้า หรือการเพิ่มค่าของสินทรัพย์ หรือการลดลงของหนี้สินซึ่ง
มีผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ไม่รวมถึงเงินทุนที่ได้รับจากผู้ถือหุ้นของกิจการ
2. ค่าใช้จ่าย expenses หมายถึง การลดลงของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในรอบระยะเวลาบัญชีในรูปกระแสออก หรือการลดค่าของสินทรัพย์หรือการเพิ่มขึ้นของหนี้สินอันส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง ทั้งนี้ไม่รวมถึงกิจการแบ่งปันกำไร (จ่ายเงินปันผล) หรือคืนทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นของกิจการ
3. กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ non profit or net loss กำไรสุทธิ หมายถึง ส่วนเกินของรายได้รวมสูงกว่าค่าใช้จ่ายรวมในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น ขาดทุนสุทธิ จะเป็นตรงกันข้ามคือ ค่าใช้จ่ายรวมสูงกว่ารายได้รวมในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง

รูปแบบของงบกำไรขาดทุน แบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ
1. แบบขั้นตอนเดียว เป็นงบกำไรขาดทุนแบบที่นิยมใช้กันและง่ายต่อการเข้าใจ โดยการแสดงรายได้ และค่าใช้จ่ายแยกจากกัน คือ รายได้ทุกรายการแสดงไว้ด้านบนของงบ และรายจ่ายทุกรายการแสดงไว้ด้านล่างของงบ และทำการหักลบกัน เป็นผลสุทธิกำไร หรือขาดทุนจากการดำเนินงาน งบกำไรขาดทุนลักษณะนี้เหมาะสำหรับกิจการขนาดเล็ก เพราะไม่ต้องปันส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไปให้แก่แผนกต่าง ๆ ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 35 กำหนดให้อย่างน้อยค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนต้องแยกแสดงรายการ ค่าเสื่อมราคา , รายจ่ายตัดบัญชี และค่าใช้จ่ายพนักงานเป็นรายการอิสระ นอกจากนี้ยังต้องแสดงเงินปันผลจ่าย และการเสนอจัดสรรเพื่อจ่ายเงินปันผลต่อหุ้นในระหว่างงวดในงบกำไรขาดทุน หรือในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
2. แบบหลายขั้นตอน มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 35 ได้กำหนดว่า ให้แสดงรายได้ แล้วหักด้วยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นขั้น ๆ ไปผลที่ได้จะเป็นกำไรหรือขาดทุน ของขั้นตอนตามหน้าที่ของรายการบัญชี การแสดงงบกำไรขาดทุนตามวิธีนี้จะให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจแก่ผู้ใช้งบการเงินมากกว่าแบบขั้นตอนเดียว เนื่องจากมีการปันส่วนค่าใช้จ่ายแก่แผนกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดรายการงบกำไรขาดทุน

รายการพิเศษ ให้แสดงในงบกำไรขาดทุนด้วยยอดสุทธิต่อจากยอดหักจากภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นรายการสุดท้ายก่อน กำไร(ขาดทุน) สุทธิจะเป็นรายการพิเศษได้ต้องครบองค์ประกอบ 2 ประการ
1. รายการหรือเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย
2. รายการหรือเหตุการณ์ทางบัญชีที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม โดยคำนึงถึงลักษณะของการประกอบธุรกิจที่ไม่ปกติของกิจการค้า
การแสดงรายการพิเศษจะต้องแสดงแยกเป็นรายการอิสระแต่ละรายการ หรือแสดงเป็นยอดรวมสุทธิ แต่ต้องเปิดเผยรายละเอียดของรายการพิเศษในหมายเหตุประกอบงบการเงิน

งบกระแสเงินสด เป็นงบการเงินอีกงบที่มาตรฐานบัญชีฉบับที่ 35 กำหนดให้กิจการต้องจัดทำเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงบการเงินฉบับสมบูรณ์ สำหรับบริษัท และบริษัทจำกัดมหาชน แต่ปัจจุบันได้รับการยกเว้นเมื่อปี 2544 โดยประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้าสำหรับบริษัท ไม่ได้ต้องจัดทำก็ได้

งบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของ / งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ
งบแสดงการเปลี่ยนแปลงฯ เป็นงบที่บอกถึงการเปลี่ยนแปลงให้หมวดส่วนของเจ้าของระหว่างต้นงวดกับปลายงวด เพื่อสะท้อนว่ากิจการมีสินทรัพย์สุทธิเพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยการแสดงด้วยการกระทบยอดคงเหลือ ณ วันต้นงวดกับวันปลายงวดเพื่อดูว่ามีจำนวนเงินเพิ่มขึ้นหรือลดลง
งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ เป็นงบที่แสดงรายการรับรู้โดยตรงในส่วนของเจ้าของในส่วนบนของงบ และเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนล่างของงบการเงิน ดังนี้
1. กำไรหรือขาดทุนสุทธิสำหรับงวด
2. รายการสะสมของการเปลี่ยนแปลงนโยบายบัญชี และการแก้ไขข้อผิดพลาด
3. รายการรายได้ ค่าใช้จ่าย รายการกำไรขาดทุนแต่ละรายการที่มาตรฐานการบัญชีฉบับอื่นกำหนดให้รับรู้โดยตรงในส่วนของเจ้าของ เช่น รายการจากการตีราคาสินทรัพย์เพิ่ม ผลต่างจากการแปลงค่างบของหน่วยงานต่างประเทศบริษัทย่อยที่สาขาอยู่ในต่างประเทศ รายการกำไรหรือขาดทุนจากหลักทรัพย์เผื่อขาย
รายการตอนล่าง ประกอบด้วย
1. เงินลงทุนที่ได้รับจากเจ้าของและการแบ่งปันส่วนทุนให้แก่เจ้าของกิจการ
2. ยอดคงเหลือของกำไร(ขาดทุน)สะสม ณ วันต้นงวด และปลายงวดรวมถึงรายการเปลี่ยนแปลงในระหว่างงวด
3.รายการกระทบยอดในส่วนทุนจดทะเบียนแต่ละประเภท ส่วนเกินมูลค่าหุ้น และสำรองแต่ละชนิดระหว่างต้นงวดกับปลายงวด
พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 กำหนดให้กิจการทั้งบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด เลือกที่จะแสดงหรือนำเสนองบใดงบหนึ่ง

หมายเหตุประกอบงบการเงิน notes to financial statements เป็นส่วนที่นักบัญชีใช้แสดงข้อมูลเพิ่มเติม หรือให้รายละเอียดเพิ่มเติมจากงบการเงิน ประกอบด้วย
1. ข้อมูลเกี่ยวกับเกณฑ์การจัดทำงบการเงิน และนโยบายการบัญชีที่เหมาะสมซึ่งกิจการเลือกใช้
2. ข้อมูลที่ต้องเปิดเผยตามมาตรฐานการบัญชีกำหนด
3. ข้อมูลเพิ่มเติมที่ไม่ได้แสดงอยู่ในงบการเงิน แต่เป็นข้อมูลที่จำเป็นเพื่อไม่ให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจผิดในสาระสำคัญ เช่น หนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้น

โทรสอบถาม