ทำไมต้องจดเครื่องหมายการค้า
- ป้องกันคนคัดลอกหรือทำสินค้าเลียนแบบมาขายแข่ง
- การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะยืนยันสิทธิ์ความเป็นเจ้าของตามกฏหมายให้กับธุรกิจ, สินค้าหรือบริการ
- มีสิทธิ์ในการเรียกร้องสิทธิ์หากมีคนละเมิด ซึ่งเป็นการสื่อสารถึงคนทั่วไปได้ดีว่าคุณเป็นเจ้าของสิทธิ์ตามกฏหมาย
- สร้างความแตกต่างทางธุรกิจ ผู้บริโภคจะรับรู้ว่ามันถูกผลิตมาจากใครบริษัทอะไร
- เครื่องหมายการค้าที่เป็นคำบ่งเฉพาะที่ไม่มีความหมายใดๆ (COINED MARKS)
เครื่องหมายการค้าที่มีโอกาสที่จะได้รับการจดทะเบียนสูงสุดคือเครื่องหมายที่ใช้ชื่อที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเองโดยที่ไม่มีความหมายใดๆ เช่น Google, Exxon, Ikea และ Kodak ซึ่งทั้งหมดนี้มีความโดดเด่น น่าจดจำ และมีความบ่งเฉพาะสูง ลูกค้าหรือผู้บริโภคไม่น่ามีปัญหาในการแบ่งแยกสินค้าหรือบริการของเจ้าของเครื่องหมายออกจากคู่แข่งในสายธุรกิจเดียวกัน ถึงแม้ว่าเจ้าของเครื่องหมายการค้าอาจจะต้องใช้เวลาในการสร้างแบรนด์หน่อย แต่ก็คุ้ม เพราะเมื่อใดที่สินค้าหรือบริการติดตลาด ผลที่ได้นั้นอาจจะหมายถึงลูกค้าที่มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว ทำให้มูลค่าของแบรนด์สูงขึ้นไปเรื่อยๆ สำหรับธุรกิจที่มีเครื่องหมายการค้าหรือบริการที่เป็นที่รู้จักดีแล้ว และลูกค้ามั่นใจในคุณภาพของสินค้าหรือบริการ นั่นก็หมายถึงโอกาสที่จะเพิ่มยอดขายโดยการให้เช่าสิทธิในเครื่องหมายการค้าและการสร้าง ขยาย และต่อยอดแฟรนไชส์ธุรกิจ โอกาสได้รับจดเครื่องหมายการค้า สูง - เครื่องหมายการค้าที่บรรยายหรือเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของตัวสินค้าหรือบริการอย่างชัดเจน (DESCRIPTIVE MARKS) เครื่องหมายการค้าควรหลีกเลี่ยงการใช้คำที่บรรยาย หรือคำที่บ่งบอกถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการนั้นโดยตรง เพราะจะขัดต่อมาตรา 7(2) ใน พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า ตัวอย่างในที่นี้ คือ Softsoap ที่ใช้เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์สบู่เหลว Better Food สำหรับผลิตภัณฑ์ไส้กรอก Microsoft สำหรับธุรกิจซอฟแวร์ Mike’s Ice Cream สำหรับร้านขายไอศรีม และ SuperGlue Corporation ที่ทำธุรกิจขายกาว ซึ่งตัวอย่างทั้งหมดนี้ เป็นการใช้คำที่บรรยายถึงหรือยกยอตัวสินค้าโดยตรง ส่วนคำว่า Oishi สำหรับธุรกิจร้านอาหาร ที่แปลจากภาษาญี่ปุ่นว่า อร่อย โดยปกติแล้วจะไม่สามารถได้รับการจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าด้วยเช่นกัน แต่ในกรณีที่มีการใช้เครื่องหมายดังกล่าวในธุรกิจนั้นจนเป็นที่แพร่หลายหรือรู้จักโดยบุคคลทั่วไปแล้ว โดยมีหลักฐานประกอบ เครื่องหมายนั้นอาจจะได้รับการจดทะเบียนในที่สุด โดยจะเรียกกรณีนี้ว่า Secondary Meaning Rule (โปรดดูข้อ 7) โอกาสได้รับจดเครื่องหมายการค้า ไม่ผ่าน
- เครี่องหมายที่เป็นคำสามัญแต่ไม่ได้บ่งบอกถึงตัวสินค้าหรือบริการโดยตรง (Suggestive, Common Marks) เครื่องหมายการค้าที่เป็นคำสำมัญที่ชวนให้นึกถึงแต่ไม่ได้บ่งบอกถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของตัวสินค้าหรือบริการโดยตรงก็อาจจะได้รับการจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า ตัวอย่างเช่น Obsession ที่เป็นหนึ่งในแบรนด์น้ำหอมของ Calvin Klein, Intuit ที่ทำธุรกิจขายซอฟแวร์ และ True สำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งอาจจะง่ายต่อการทำการตลาดกว่าคำที่ไม่มีความหมายใดๆเลยดังเห็นอย่างในข้อที่ 1 เพราะคำที่ใช้อาจจะให้ความรู้สึกอะไรบางอย่างที่นักการตลาดต้องการให้ผู้ใช้รู้สึก เช่น เมื่อลูกค้าฟังคำว่า Intuit ซึ่งแปลว่าการหยั่งรู้ อาจจะทำให้ผู้ซื้อมีความรู้สึกว่าเป็นซอฟแวร์ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถช่วยเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างชาญฉลาด ถูกต้อง และแม่นยำ โอกาสได้รับจดเครื่องหมายการค้า ปานกลาง
- เครี่องหมายที่เป็นคำสามัญแต่ใช้ในบริบทที่แตกต่าง (Common Marks in Uncommon Contexts) ยกตัวอย่างเช่น Apple สำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ Subway สำหรับร้านขายแซนด์วิช Camel สำหรับยี่ห้อบุหรี่ และ Shark สำหรับเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องหมายเหล่านี้อาจจะได้รับการจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า เพราะเป็นการใช้คำสามัญในบริบทที่ไม่ปกติหรือที่แตกต่างจากที่รู้กันโดยทั่วไป แต่ถ้าเครื่องหมาย Apple ถูกใช้ในการขายแอปเปิ้ลเขียวในตลาดสด เครื่องหมายนั้นจะขัดต่อมาตรา 7(2) และจะไม่ได้รับการจดหรือถูกเพิกถอนทันที โอกาสได้รับจดเครื่องหมายการค้า ปานกลาง
- เครี่องหมายที่เป็นคำสามัญแต่สามารถนำมารวมกันในรูปแบบที่แปลกใหม่ (Common Marks in Uncommon Arrangements) การนำคำสามัญสองคำหรือมากกว่ามารวมกันในรูปแบบที่แปลกใหม่ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เช่น Taco John’s สำหรับร้านขายอาหารเม็กซิกัน Trader Joe’s สำหรับซูเปอร์มาร์เก็ต และ Burt’s Bees อาจจะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเหมือนกัน เพราะโดยปกติคงไม่มีใครที่เอาคำสามัญสองคำมาประกอบในรูปแบบนั้น แต่ถ้าผู้ยื่นจดเครื่องหมายการค้าตัดสินใจใช้คำว่า John’s Taco และยิ่งถ้าขายอาหารเม็กซิกันที่รวมถึงทาโก้ด้วยแล้วก็ โอกาสที่จะได้รับการจดทะเบียนจะต่ำมากและอาจจะไม่ผ่านเลยด้วยซ้ำ เพราะคำว่า John เป็นชื่อธรรมดาและนิยมใช้กันในหลายๆประเทศทั่วโลก และเมื่อใช้ก่อน Taco ก็บรรยายตรงตัวว่า ทาโก้ของจอน โอกาสได้รับจดเครื่องหมายการค้า ปานกลาง
- เครื่องหมายที่เป็นคำสามัญแต่มีการออกแบบให้ดูแปลกใหม่ (Common Marks with New Designs) บางบริษัทเช่น Siam Cement Group ที่มีธุรกิจขายปูนซีเมนต์ได้ออกแบบโลโก้เป็น SCG ที่มีรูปช้างในกล่องนูนรอบด้าน ส่วน General Electric เองก็ได้ออกแบบคำย่อว่า GE เพื่อให้ได้รับการจดเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายของ Toys R Us ซึ่งเป็นร้านขายของเล่นเด็กก็ได้ออกแบบ R ให้หันหัวไปด้านซ้ายซึ่งทำให้ดูแปลกไปจากเดิม ทั้งหมดนี้เน้นเรื่องการออกแบบเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงตัวสินค้าหรือบริการโดยตรงให้ดูแปลกใหม่ขึ้น ซึ่งสามารถทำให้พวกเขาจดเครื่องหมายการค้าได้ เพราะฉะนั้น ในบางกรณีที่ผู้ขอได้ออกแบบโลโก้หรือเครื่องหมายขึ้นมาแล้ว แต่เพิ่งรู้ว่าไม่บ่งเฉพาะพอที่จะยื่นจดเครื่องหมายการค้าได้ ผู้ขออาจจะลองแก้ไขโดยการย่อคำ หรือตัดตัวอักษรตัวใดตัวหนึ่งในคำบรรยายหรือคำสามัญนั้นออกเพื่อไม่ให้สะกดได้หรือไม่ให้เหมือนคำศัพท์ทั่วไป หรือในบางกรณีผู้ขออาจจะลองออกแบบใหม่ โดยให้คำนั้นเล็กลงจนไม่เป็นสาระสำคัญ และไปเน้นการออกแบบส่วนอื่นๆบนเครื่องหมาย เช่น การทำรูปหรือกราฟฟิคประกอบเครื่องหมายการค้าให้ใหญ่ขึ้นเพื่อที่จะให้กลบหรือจนถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญแทนที่คำนั้นๆ ในลักษณะนี้ ผู้ขออาจจะได้รับสิทธิในองค์ประกอบของเครื่องหมายโดยรวม โดยผู้ขออาจจะต้องแลกด้วยการสละสิทธิในคำที่ใช้ในเครื่องหมายนั้น โอกาสได้รับจดเครื่องหมายการค้า ต่ำถึงปานกลาง
- เครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะแต่มีการใช้อย่างแพร่หลาย (Indistinctive Marks that are Widely Used)ผู้ประกอบการ นักออกแบบ และนักการตลาดที่ยังไม่มีความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาดีพอ อาจจะเริ่มการขายสินค้าหรือให้บริการไปเลยโดยไม่คำนึงถึงการยื่นจดเครื่องหมายการค้าไว้ก่อน ส่วนใหญ่จะคิดได้หลังจากที่เริ่มขายสินค้าหรือให้บริการไปสักระยะนึงแล้วและแบรนด์เริ่มจะเป็นที่รู้จักโดยบุคคลทั่วไป แต่สมมติว่า หลังจากที่ได้ลงเงินและแรงในการโปรโมทสินค้านั้นจนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย (และถ้าโชคดีที่ยังไม่มีใครลอกเลียนแบบเครื่องหมายหรือชื่อสินค้า) ปรากฎว่าผู้ขอไม่สามารถยื่นจดเครื่องหมายการค้านั้นได้เพราะไม่เป็นเครื่องหมายที่บ่งเฉพาะตามมาตรา 7 แต่ผู้ขอสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ โดยการแสดงหลักฐานเกี่ยวกับการใช้โลโก้หรือเครื่องหมายบนสินค้านั้นเพื่อการค้า โดยให้นำหลักฐานทั้งหมด (ถ้าเป็นไปได้) ตั้งแต่วันที่เริ่มการใช้เครื่องหมายนั้นในทางการค้า เช่นรูปถ่ายร้านค้าที่ขายสินค้านั้นวางขายอยู่ รูปถ่ายงานแสดงสินค้าที่ผู้ขอได้ไปโปรโมทสินค้า หลักฐานการขายทางอินเตอร์เนท และ ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้านั้น ไปยื่นอุทธรณ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาภายในระยะเวลาที่ทางกรมฯกำหนด
การได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในกรณีพิเศษนี้ เรียกว่า Secondary Meaning Rule ที่ซึ่งเครื่องหมาย McDonald’s, Best Buy, และ American Airlines ต่างก็เคยผ่านการพิจารณาโดยกระบวนการนี้มาแล้ว โอกาสได้รับจดเครื่องหมายการค้า ต่ำ
- เครื่องหมายที่เป็นเครื่องหมายต้องห้าม (Prohibited Marks) มาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าได้ระบุเครื่องหมายต่างๆที่ห้ามมิให้รับรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เช่น ตราแผ่นดิน ตราจักรี ตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตราประจำกระทรวง กรม หรือประจำจังหวัด ธงชาติไทย ธงชาติต่างประเทศ ธงราชการ พระปรมาภิไธย พระบรมฉายาลักษณ์ ชื่อ คำ ข้อความ หรือเครื่องหมายใด อันแสดงถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท ฯลฯ โอกาสได้รับจดเครื่องหมายการค้า ไม่ผ่าน
เครื่องหมายการค้า หมายถึง เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์หรือตราที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ ซึ่งเครื่องหมายที่ให้ความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 มี 4 ประเภท ดังต่อไปนี้
- เครื่องหมายการค้า (Trade Mark) คือเครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เช่น บรีส มาม่า กระทิงแดง เป็นต้น
- เครื่องหมายบริการ (Service Mark) คือ เครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมาย บริการของบุคคลอื่น เช่น เครื่องหมายของสายการบิน ธนาคาร โรงแรม เป็นต้น
- เครื่องหมายรับรอง (Certification Mark) คือ เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับ สินค้าและบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพของสินค้า หรือบริการนั้น เช่น เชลล์ชวนชิม แม่ช้อยนางรำ ฮาลาล (Halal) เป็นต้น
- เครื่องหมายร่วม (Collective Mark) คือ เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้โดยบริษัทหรือวิสาหกิจในกลุ่ม เดียวกัน หรือโดยสมาชิกของสมาคม กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน เช่น ตราช้างของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นต้น
ปัจจุบันผู้ประกอบการค้า ได้ใช้เครื่องหมายการค้าเป็นเครื่องมือนำทางการค้า ทั้งภายในประเทศและการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เจ้าของเครื่องหมายการค้าจึงมีความจำเป็นต้องจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองสิทธิในประเทศต่าง ๆ ก่อนส่งสินค้าไปจำหน่าย เพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดเครื่องหมายการค้า และมิให้ผู้ใดนำเครื่องหมายการค้าของตนไปจดทะเบียนในต่างประเทศโดยมิได้เป็นเจ้าของ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีนโยบายในการส่งเสริมการให้บริการขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศด้วยความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย ด้วยการศึกษาแนวทางการเข้าเป็นภาคีพิธีสารกรุงมาดริด (Madrid Protocol)
หากประเทศไทย เข้าเป็นภาคีพิธีสารกรุงมาดริด ผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกของไทยก็จะได้รับประโยชน์ที่จะสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อขอรับความคุ้มครองในประเทศต่าง ๆ ได้ หลายประเทศในคราวเดียวกัน โดยยื่นคำขอจดทะเบียนเพียงคำขอเดียว ใช้เพียงภาษาเดียว(อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือสเปน) และเสียค่าธรรมเนียมเพียงครั้งเดียว ซึ่งก็จะทำให้ได้รับความสะดวก รวดเร็วในการยื่นคำขอจดทะเบียน และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีกด้วย
ขั้นตอนการจดทะเบียน
การยื่นคำขอ
ให้ยื่นต่อสำนักงานระหว่างประเทศ (International Bureau) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) โดยยื่นผ่านสำนักงานทะเบียนต้นกำเนิดของประเทศผู้ขอ ซึ่งจะดำเนินการตรวจสอบและรับรองว่าเครื่องหมายที่ยื่น สินค้าและ/หรือบริการที่ระบุ เหมือนกับคำขอรากฐาน (Basic Application) หรือทะเบียนรากฐาน (Basic Registration)
คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จะนำไปยื่นขอจดทะเบียนระหว่างประเทศตามพิธีสารกรุงมาดริดได้นั้น ต้องเป็นคำขอที่มีการยื่นขอจดทะเบียน หรือได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วในประเทศต้นกำเนิด
การจดทะเบียน การจดทะเบียนแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ
1. ขั้นตอนระหว่างประเทศ
เมื่อสำนักงานระหว่างประเทศได้รับคำขอจดทะเบียน จะดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้น (Formal Examination) ในเรื่องความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของพิธีสารกรุงมาดริดและกฎข้อบังคับพิธีสารกรุงมาดริด (Common Regulations) การระบุจำพวกและรายการสินค้าและ/หรือบริการ ว่าเป็นไปตาม Nice Classification หรือไม่ รวมทั้งการชำระค่าธรรมเนียม หากมีข้อบกพร่อง สำนักงานระหว่างประเทศจะแจ้งไปยังประเทศที่มีการยื่นคำขอและผู้ยื่นคำขอ ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำขอจะต้องแก้ไขภายใน 3 เดือน มิฉะนั้นจะถือว่าละทิ้งคำขอ
2. ขั้นตอนในประเทศ
เมื่อประเทศภาคีที่ผู้ยื่นคำขอประสงค์จะได้รับความคุ้มครองได้รับคำขอแล้ว จะดำเนินการตรวจสอบคำขอดังกล่าวตามขั้นตอนปกติที่ใช้สำหรับการตรวจสอบคำขอที่ยื่นในประเทศ โดยจะตรวจสอบเนื้อหาสาระ (Substantive Examination) โดยตรวจสอบตามกฎหมายภายในของตน เช่น ตรวจสอบความเหมือนคล้าย ลักษณะบ่งเฉพาะหรือลักษณะต้องห้าม เป็นต้น หากมีข้อบกพร่องต้องดำเนินการแก้ไขตามกฎหมายภายในของประเทศนั้น ๆ
หากมีเหตุที่ต้องปฏิเสธการรับจดทะเบียน จะต้องแจ้งให้สำนักงานระหว่างประเทศทราบภายในกำหนด 12 เดือน หรือ 18 เดือน หรือหลังจากนั้น (กรณีมีคำร้องคัดค้าน)มิฉะนั้นจะถือว่าเครื่องหมายดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนในประเทศที่ขอจดทะเบียนนั้นแล้ว
วันจดทะเบียน มี 2 กรณี ดังนี้
- คือวันยื่นคำขอจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนต้นกำเนิด หากคำขอดังกล่าวถึงสำนักงานระหว่างประเทศภายใน 2 เดือน
- หากเกิน 2 เดือน ให้ถือวันที่สำนักงานระหว่างประเทศได้รับคำขอเป็นวันจดทะเบียน
10 ปี นับตั้งแต่วันรับจดทะเบียน และต่ออายุได้อีกคราวละ 10 ปี การต่ออายุสามารถต่ออายุได้ก่อนวันสิ้นอายุ 6 เดือน หรือหลังสิ้นอายุแล้วภายใน 6 เดือนก็ได้ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มร้อยละ 50 ของค่าธรรมเนียมเบื้องต้น (Basic fee) ทั้งนี้ สามารถต่ออายุเฉพาะบางประเทศ หรือทุกประเทศที่ได้รับความคุ้มครองก็ได้
ค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศมี 4 ประเภท คือ
-
- Basic fee เป็นค่าธรรมเนียมเบื้องต้นสำหรับการยื่นคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศหนึ่งคำขอ
– เครื่องหมายขาว-ดำ 653 สวิสฟรังค์
– เครื่องหมายที่เป็นสี 903 สวิสฟรังค์
- Supplementary fee เป็นค่าธรรมเนียมสำหรับจำพวกสินค้าและ/หรือบริการ ที่ยื่นขอจดทะเบียนเกิน 3 จำพวก โดยเสียค่าธรรมเนียมตั้งแต่จำพวกที่ 4 ขึ้นไป จำพวกละ 73 สวิสฟรังค์
- Complementary fee เป็นค่าธรรมเนียมสำหรับประเทศที่ระบุเพื่อขอจดทะเบียน ประเทศละ 73 สวิสฟรังค์
- Individual fee เป็นค่าธรรมเนียมเฉพาะประเทศ
หรือเมล์สอบถาม acsesol@gmail.com